Blog

ไขข้อข้องใจ ยากินแก้ปวด กับยาทาแก้ปวด แบบไหนดีกว่ากัน

ไขข้อข้องใจ ยากินแก้ปวด กับยาทาแก้ปวด แบบไหนดีกว่ากัน


1 minute read

Listen to article
Audio is generated by AI and may have slight pronunciation nuances.

ยาบรรเทาอาการปวด เป็นยาที่ใช้รักษา หรือ บรรเทาอาการปวด หรือ การอักเสบของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น เช่น ปวดหัว, ข้ออักเสบ (Arthritis), หรือเอ็นอักเสบ ในท้องตลาดมียาแก้ปวดหลากหลายชนิด ทั้งรูปแบบ ‘ยากินแก้ปวด’ และ ‘ยาทาแก้ปวด’ ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ทั้งในด้านการออกฤทธิ์ กลไกการทำงาน วิธีการใช้งาน และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น 

แล้วเราควรเลือกใช้ยาแก้ปวดในรูปแบบใด ให้เหมาะสมที่สุด 
บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจให้ค่ะ

ยากินแก้ปวด กับ ยาทาแก้ปวดแตกต่างกันอย่างไร

ยากินแก้ปวด

ยากินแก้ปวดเป็นยาที่รับประทานทางปาก ย่อยและดูดซึมผ่านทางเดินอาหารก่อนที่จะเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะถูกพาไปทั่วร่างกายรวมถึงบริเวณที่มีอาการปวด ยากินแก้ปวดมีหลายประเภท ได้แก่

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol):

  • การออกฤทธิ์ : บรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง  ยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน แต่อาจยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่ทำให้เกิดอาการปวด และออกฤทธิ์ที่สมองที่เกี่ยวข้องกับการรับความรู้สึกเจ็บปวด
  • ข้อดี : หาซื้อได้ง่าย และราคาไม่แพง
  • ข้อควรระวัง : หากใช้เกินขนาดอาจมีผลกระทบต่อตับ

2. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs):

  • ตัวอย่าง : ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพรอกเซน (naproxen), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), แอสไพริน (Aspirin)
  • การออกฤทธิ์ : บรรเทาอาการปวด ลดไข้ รวมถึงลดการอักเสบ โดยยับยั้งเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 ที่ทำให้เกิดการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบและความเจ็บปวด มักถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อกระดูกเสื่อม ข้ออักเสบในโรคเกาต์
  • ข้อดี : สามารถบรรเทาอาการปวดได้หลายประเภท
  • ข้อควรระวัง : ระคายเคืองทางเดินอาหาร เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงไม่ควรทานยาตอนท้องว่าง ทำให้เลือดแข็งตัวช้า รวมถึงเกิดผลเสียต่อไตผู้ป่วยโรคไตไม่ควรซื้อยากลุ่ม NSAIDs กินเองโดยเด็ดขาด

3. ยาประเภทโอปิออยด์ (Opioids):

  • ตัวอย่าง : ทรามาดอล (Tramadol), มอร์ฟีน (Morphine), โคเดอีน (Codeine)
  • การออกฤทธิ์ : บรรเทาอาการปวดโดยการยับยั้งการส่งสัญญาณปวดในระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้อาการปวดลดลง และทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุขด้วย
  • ข้อดี : สามารถบรรเทาอาการปวดได้หลายประเภท
  • ข้อควรระวัง : ระคายเคืองทางเดินอาหาร เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงไม่ควรทานยาตอนท้องว่าง ทำให้เลือดแข็งตัวช้า รวมถึงเกิดผลเสียต่อไตผู้ป่วยโรคไตไม่ควรซื้อยากลุ่ม NSAIDs กินเองโดยเด็ดขาด

ยากินแก้ปวด

ยาทาแก้ปวด

ยาทาแก้ปวดเป็นยาที่ใช้ภายนอกโดยการทาลงบนบริเวณที่มีอาการปวด ยาจะซึมผ่านผิวหนังไปออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่ทายาตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ยาทาแก้ปวดมีหลายประเภทซึ่งมีการออกฤทธิ์และส่วนผสมที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น

1. ยาทาประเภทยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs; Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs):

ตัวยาและการออกฤทธิ์ เหมือนกลับยากลุ่ม NSAIDs ในรูปแบบรับประทาน มีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน ตึง เคล็ด หรือได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา มีประสิทธิภาพดีในโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthristis)

  • ตัวอย่าง : ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไพร็อกซิแคม (piroxicam)
  • ข้อดี : ออกฤทธิ์ตรงจุด ลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับกระเพาะอาหารและไต เมื่อเทียบกับยา NSAIDs ในรูปแบบรับประทาน เนื่องจากยาไม่ผ่านทางเดินอาหาร หรือระบบเลือดมากนัก

2. ยาทาประเภทสเตียรอยด์ (Steroids):

  • ตัวอย่าง : ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone)
  • การออกฤทธิ์ : กดภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ บวม แดง คัน โดยยับยั้งการสร้างสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบได้
  • ข้อดี : ใช้ในการรักษาอาการอักเสบเฉพาะที่ได้ดี เช่น ผื่นคัน การอักเสบบวม แดง
  • ข้อควรระวัง : เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง จึงควรใช้เริ่มใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุดเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

3. ยาทาประเภทอื่นๆ:

  • ตัวอย่าง : เมนทอล (Menthol), แคปไซซิน (Capsaicin)
  • การออกฤทธิ์ : มีทั้งรูปแบบยาทาสูตรเย็น และ สูตรร้อน ตัวอย่างเช่น เมนทอลช่วยให้รู้สึกเย็นสบายและลดอาการปวดด้วยการทำให้รู้สึกชา ชะลอการส่งสัญญาญความเจ็บปวดที่ถูกส่งไปยังสมอง ส่วนแคปไซซินทำให้รู้สึกร้อน ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและสารอาหารดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งกล้ามเนื้อ ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • ข้อดี : ออกฤทธิ์เฉพาะจุด หาซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง รวมถึงมีผลข้างเคียงน้อย
  • ข้อควรระวัง : ไม่ควรทาลงบนแผลเป็น
  • สาเหตุของอาการปวด : หากเกิดจากการอักเสบ ควรเลือกครีมที่มีส่วนผสมของยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ ไดโคลฟีแนก (Diclofenac)
  • ความรุนแรงของอาการปวด : หากอาการปวดรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาที่เหมาะสม
  • ชนิดของครีม : ครีมบางชนิดอาจมีกลิ่นหรือสัมผัสที่ไม่เหมาะสมกับผิวของบางคน ควรเลือกชนิดที่เหมาะกับผิวของตัวเอง เช่น ผิวบาง ควรเลือกใช้ครีมที่เนื้อครีมบางเบา ไม่แสบร้อนผิว เป็นต้น
  • คำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร : ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับอาการและสภาพร่างกายของตัวเอง

สรุป

ยาทาแก้ปวด และ ยากินแก้ปวด มีประโยชน์และการใช้งานที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยาทั้งสองประเภทขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการของผู้ป่วย หากเป็นอาการปวดเฉพาะจุดที่ไม่รุนแรง ยาทาแก้ปวดอาจเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะสามารถลดอาการได้ตรงจุดและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ในขณะที่หากเป็นอาการปวดทั่วร่างกายหรือรุนแรง ยากินแก้ปวดอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้น การปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อคำแนะนำในการใช้ยาเป็น
สิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพใน
การบรรเทาอาการปวด

อ้างอิง

https://www.webmd.com/pain-management/pain-relievers
https://www.webmd.com/pain-management/topical-pain-relievers

#ลดปวดเข่า #เข่าเสื่อม #ข้อต่อ #ครีมทาแก้ปวด #ยาแก้ปวด


« Back to Blog